เป็นข้อถกเถียงและคำถามคาใจใครหลายคนมานานแล้วว่า ตำรวจมีอำนาจในการยึดใบขับขี่หรือไม่ เพราะเวลาที่เกิดการกระทำผิดและโดนตำรวจเรียกสิ่งแรกที่ตำรวจจะทำก็คือขอดูใบขับขี่และยึดเอาไว้ ซึ่งเราจะมาลองค้นหาคำตอบโดยมีข้อพิจารณาดังนี้
- ตามระบบกฎหมายของไทยกล่าวไว้ว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ย่อมเป็นผู้มีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สิน รวมถึงการทำลายทรัพย์สินนั้นได้ อีกทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ
- อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่ว่านี้ หากกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ ซึ่งหมายความได้ว่า หากมีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายนั้นย่อมลิดรอนสิทธิหรืออำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
- จากข้อสงสัยที่ว่าตำรวจมีสิทธิยึดใบขับขี่หรือไม่ เมื่อดูจากที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 2 ประการ สามารถสรุปได้ว่าใบขับขี่เป็นกรรมสิทธิ์ของเราคนอื่นจะมายึดหรือเข้ามายุ่งโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายไม่ได้
ถ้าเกิดกรณีที่ตำรวจเข้ายึดใบขับขี่ก็จะต้องดูว่าตำรวจอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายที่จะยึดใบขับขี่ แต่เมื่อลงรายละเอียดมากกว่านั้นก็จะพบว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๔๐ ว่าด้วยเรื่องการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ เพื่อนำไปชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจรจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และเจ้าพนักงานจราจรต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ไปส่งมอบให้ตอนพนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับจากเวลาที่ออกคำสั่ง
ส่วนใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ถือว่าออกให้เป็นการชั่วคราวสามารถใช้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อได้ไปชำระค่าเปรียบเทียบปรับแล้ว เจ้าพนักงานสอบสวนต้องทำการคืนใบอนุญาตขับขี่ทันที
ดังนั้นจึงสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยึดใบขับขี่ได้หากมีการฝ่าฝืนกฎจราจร ถึงแม้ว่าใบขับขี่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือครองก็ตาม ซึ่งเจ้าของใบขับขี่ก็ไม่สามารถไปแจ้งความว่าตำรวจมีความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการเอาไปเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ตำรวจจะต้องมีการออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ (ใบสั่ง) ให้แก่ผู้ขับขี่แทนเช่นกัน ทางที่ดีถ้าไม่อยากจะต้องมาเกิดปัญหายุ่งยากทีหลังก็อย่าทำผิดกฎจราจรจะดีที่สุด การปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดอุบัติเหตุ ปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน